TRITN อัดงบฯ 134.47 ลบ. เข้าซื้อรฟฟ.ก๊าซชีวภาพ 4.9 MW พร้อมรับรู้รายได้ไตรมาส 4

TRITN อัดงบฯ 134.47 ลบ. เข้าซื้อรฟฟ.ก๊าซชีวภาพ 4.9 MW พร้อมรับรู้รายได้ไตรมาส 4

บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TRITN แจ้งว่า บริษัท ไทรทัน พาวเวอร์ จำกัด (TPW) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้เข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพของบริษัท อัครวัฒน์ พลังงานพืชหมุนเวียน จำกัด (AKW) ตั้งอยู่ใน จ.จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.63 โดยเข้าซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเดิม 37,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท คิดเป็น 75% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 686 บาท คิดเป็นเงิน 25,725,000 บาท และซื้อหุ้นเพิ่มทุน 1,087,500 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 75% ของทุนจดทะเบียน ในราคาหุ้นละ 100 บาท คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 108,750,000 บาท

โดย การเข้าถือหุ้นของกิจการโรงไฟฟ้า AKW ในครั้งนี้ TPW ชำระเงินลงทุนซื้อหุ้นทั้ง 2 ส่วนจำนวน 134,475,000 บาท ภายหลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนเสร็จสมบูรณ์ TPW ได้เข้าถือหุ้น ในส่วนแรกโดยการรับโอนหุ้นสามัญของกิจการโรงไฟฟ้า AKW ในวันที่ 17 ก.พ.63 และจะเข้าถือหุ้นในส่วนที่สองให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.63

ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินกระบวนการเข้าถือหุ้นดังกล่าวเสร็จสิ้น กิจการโรงไฟฟ้า AKW จะกลายมาเป็นบริษัทย่อยของ TPW และเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ TRITN โดยกิจการโรงไฟฟ้า AKW จะมีกรรมการที่เป็นตัวแทนของ TPW หรือจากบริษัท จำนวน 3 ท่าน คือ (1) นางสาวหลุยส์ เตชะอุบล (2) นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ และ(3) นางนฤมล ฉัตรตะวัน และจะมีกรรมการที่เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม 1 ท่าน คือ นายสิทธิพร จรัสปรีดาลาภ

สำหรับโรงไฟฟ้า AKW ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นการผลิตจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (Biogas) จากน้ำกากส่าเข้มข้น มีกำลังการผลิตสูงสุด 4.9 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมาได้จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.53 โดยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ.ระยะเวลา 5 ปี (ขยายระยะเวลาต่อเนื่องได้ครั้ง 5 ปีโดยอัตโนมัติ) อัตราการรับซื้อไฟฟ้าตามราคารับซื้อพื้นฐานของ กฟภ. ซึ่งโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่ ต.สระกระโจม อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี

โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้า AKW หยุดการ COD ไว้ชั่วคราว เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับปรุงการออกแบบทางวิศวกรรมและการจัดการทางวิศวกรรมใหม่ระบบการย่อยสลายอินทรีย์แบบไม่ใช้อากาศ หรือบ่อหมักให้เกิดก๊าซชีวภาพที่ได้ปริมาณตามที่ต้องการเป็นไปตามหลักวิศวกรรม การเพิ่มจำนวนเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการซื้อที่ดิน 32 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ภายใต้การบริหารจัดการของผู้บริหารชุดใหม่ เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินการ COD ได้อีกครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถ COD ได้ใหม่ในช่วงไตรมาส 4/63 ซึ่งกิจการโรงไฟฟ้า AKW จะใช้เงินทุนที่ได้รับจากการเพิ่มทุน จำนวน 1,450,00 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 145,000,000 บาท เป็นเงินทุนที่ใช้สำหรับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/342065